รณรงค์เมาไม่ขับล้มเหลว!สป.ยธ.ชี้คนมีเงินมีอำนาจทำผิดเคลียร์ตร.ได้จี้รัฐบาลเร่งปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนแก้ปัญหาอุบัติเหตุและความตายบนถนน

รณรงค์เมาไม่ขับล้มเหลว!สป.ยธ.ชี้คนมีเงินมีอำนาจทำผิดเคลียร์ตร.ได้จี้รัฐบาลเร่งปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนแก้ปัญหาอุบัติเหตุและความตายบนถนน

เมาไม่ขับ

เมื่อวันที่ 4ม.ค.2563  สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนแก้ปัญหาอุบัติเหตุและความตายบนถนน มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่รัฐบาลทุกยุคสมัยได้กำหนดนโยบายในการป้องกันอุบัติเหตุจราจรที่ทำให้ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติล้มตายในแต่ละปีมากมายถึง  ๒๒,๐๐๐  คน  และบาดเจ็บทุพลภาพอีกนับแสน  โดยเฉพาะในเทศกาลต่างๆ ช่วง ๗ วันอันตราย  ที่กำหนดให้มีการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบห้าปี

 

แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด   ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้คนถึงแก่ความตายจากอุบัติเหตุจราจรสูงอันดับหนึ่งของโลกตลอดมา  สาเหตุหลักของอุบัติเหตุซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบแถลงอยู่ทุกปีก็คือ   การมีพฤติกรรมเมาแล้วขับ  การใช้ความเร็วเกินกำหนด  และฝ่าฝืนกฎจราจร  ทั้งๆ ที่ตำรวจได้มีการตั้งด่านตามถนนหนทางต่างๆ  โดยอ้างว่าเพื่อสกัดคนเมาและผู้ขับรถเร็วอยู่มากมาย   สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงก็คือ

 

๑. การขาดความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบงานป้องกันอุบัติเหตุทั้งระดับ ชาติและระดับจังหวัด

๒. ปัญหาการสอบสวนที่ไม่ประสิทธิภาพหรือมีการทุจริตล้มคดี เนื่องจากขาดการตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาการขาดความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชาก็เช่น  มีการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับชาติ  และระดับจังหวัดก็ให้ผู้ว่าราชการเป็นผู้ รับผิดชอบ  โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่มีอำนาจควบคุมสั่งการ ผบ.ตร. และผู้ว่าฯ ก็ไม่มีอำนาจสั่งการควบคุม ผบก.ตำรวจจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานรักษากฎหมายที่สำคัญที่สุดให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐได้

 

จะเห็นได้ว่า การประชุมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวที่กระทรวงมหาดไทยทุกครั้ง ผบ.ตร.ก็ไม่ได้เข้าประชุมด้วยตนเอง  และผู้บังคับการตำรวจส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด  ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทยที่ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ  แทบทุกเรื่องไม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงตลอดมา  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายที่จำหน่ายสุราให้เด็กและเยาวชนทั้งหญิงชายที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องออกไปตรวจจับแทนตำรวจที่รับส่วยสินบนจากผู้ประกอบการซึ่งประชาชนต่างก็ทราบกันดีทั่วไป

 

สำหรับการตรวจจับหรือแม้กระทั่งการตั้งด่านตรวจที่มีอยู่ทั่วประเทศมากมาย  ก็ไม่มีหลัก ประกันเรื่องความสุจริตในการปฏิบัติ  หลายกรณีคนมีเงินหรือมีอำนาจที่กระทำผิดกฎหมายจราจรไม่ว่าจะเมาแล้วขับ หรือฝ่าฝืนกฎหมายสามารถพูดคุยกับตำรวจไม่ให้จับกุมดำเนินคดีตนเองเหมือนประชาชนคนยากจนทั่วไปได้

 

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรและความตายบนถนนของประชาชนด้วยการ“ปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน” ดังนี้

 

๑. แก้ไขกฎหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดิม  เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการผู้รับผิดชอบงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน  มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลก  แทนการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งมีภารกิจมากหลายด้าน  และขาดองค์กรรองรับในการตรวจสอบควบคุมสั่งการและประเมินผลการปฏิบัติ

 

๒. ให้กองบังคับการตำรวจจังหวัดเป็นราชการส่วนภูมิภาค อยู่ภายใต้การควบคุม สั่งการ ตรวจสอบและประเมินผลของผู้ว่าราชการจังหวัด  มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้กำกับการลงไปในจังหวัดทุกตำแหน่งด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัด หรือ กต.ตร.จังหวัด  โดยแต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการเพิ่มเติม  เพื่อให้ ผบก.ตำรวจจังหวัด และหัวหน้าสถานีทุกแห่งปฏิบัติงานตามคำสั่งและนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดผู้รับผิดชอบงานทั้งปวงของจังหวัดรวมทั้งปัญหาอุบัติเหตุจราจรด้วย

 

๓. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อัยการมีอำนาจตรวจที่เกิดเหตุ และเข้าตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกสิบปีขึ้นไป รวมทั้งคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจหรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เกิดเหตุ  ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ในมือของตำรวจแต่เพียงหน่วยเดียว  ซึ่งง่ายต่อการสอบสวนล้มคดีช่วยผู้กระทำผิดและทุจริต ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนมีเงินและมีอำนาจ  ไม่เกรงกลัวกฎหมายทั้งความผิดอาญา  เช่น คดีขับรถประมาทชนคนบาดเจ็บหรือตายที่หลายคดีไม่ได้มีการทดสอบความเมา  หรือสอบสวนส่งพนักงานอัยการสั่งคดี  รวมทั้งการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง