ตำรวจตั้งด่านตรวจค้น ละเมิดเสรีภาพประชาชนรถชนเสียหาย เจ็บ ตาย ใครรับผิดชอบ? -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ตำรวจตั้งด่านตรวจค้น ละเมิดเสรีภาพประชาชนรถชนเสียหาย เจ็บ ตาย ใครรับผิดชอบ? -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ยุติธรรมวิวัฒน์

ปัญหาตำรวจไทย นำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนถนน “ตั้งด่าน” ตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะบนทางหลวงสายต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการเรียกส่งสัญญาณให้หยุดรถแล้ว ขอตรวจสภาพยานพาหนะ ว่ามีอุปกรณ์ส่วนควบครบถ้วนหรือไม่

ก้มลงไปใต้ท้องรถดูกันแม้กระทั่ง “ท่อพัก” ว่ามีหรือไม่ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกยืนยันแล้วว่าไม่ผิด!

การให้เป่าเครื่องวัดหาปริมาณแอลกอฮอล์ ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ด้วยความห่วงใย ตรวจหาสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติดและอาวุธปืน แม้กระทั่งมีดพกบางประเภทเช่น คัตเตอร์ ที่ถือเป็นเครื่องใช้อเนกประสงค์หรืออุปกรณ์การทำงานของประชาชนบางอาชีพอย่างหนึ่ง

ซึ่งอาจถูกตำรวจ ผู้ไม่รู้กฎหมาย หลายคนกล่าวหาแม้กระทั่งผู้เป็นหญิงสาวว่า พกพาอาวุธ จับกุมเอาได้

โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมและกวดขันวินัยจราจร ลดอุบัติเหตุและความตายบนถนนที่ประเทศไทยมีสถิติสูงถึงปีละ 22,000 คน ติดอันดับต้นของโลกมาหลายสิบปี 

ตำรวจผู้น้อยทุกคนจำเป็นและ จำใจ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา?

มีทั้งการตั้งด่านตามปกติที่กระทำกันเป็นประจำทุกวัน   และเน้นในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ที่กำลังดำเนินการกันอย่างขะมักเขม้นทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคอยู่ขณะนี้

แม้รัฐบาลและตำรวจผู้ใหญ่หลายคนจะบอกว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาอาชญากรรมและลดอุบัติเหตุบนถนนได้อย่างดี  มีผลการปฏิบัติในการจับกุมแต่ละปีมากมาย?

ถ้าตำรวจไม่ตั้งด่าน ก็อาจมีปัญหาอาชญากรรมรวมทั้งคนเจ็บตายจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่านี้?

แต่ในข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่ สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนอย่างยิ่ง 

ไม่ว่าจะเป็นความหวาดผวาว่าจะถูกยัดยา ยัดข้อหา  หรือเสียเวลาในการเดินทาง ประชาชนผู้ขับรถและผู้โดยสาร นับแสนนับล้านคน ต้องชะลอหรือหยุดรถให้ตำรวจตรวจค้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย  มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายอะไรไว้ในความครอบครอง

ตำรวจบางคนก็ถามโน่นถามนี่ทั้งคนขับและผู้โดยสารว่าจะไปไหน ขอตรวจดูใบขับขี่และบัตรประชาชนเพื่อค้นหาคนต่างด้าว ฯลฯ สารพัด?

ที่สำคัญก็คือ ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 38 ที่บัญญัติว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน”

การตั้งด่านดังกล่าว ตำรวจผู้ใหญ่มักจะอ้างว่ามีอำนาจทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  93 ซึ่งบัญญัติว่า

“ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน  เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งผิดกฎหมายไว้ในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำผิดหรือมีไว้เป็นความผิด

ซึ่งแท้จริงมีความหมายว่า ตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ทุกคน จะมีอำนาจตรวจค้นตัวประชาชนคนใดก็ต่อเมื่อ มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายไว้ในความครอบครองหรือได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย แล้วเท่านั้น

ไม่มีตำรวจชั้นยศใด แม้กระทั่งพลตำรวจเอก มีอำนาจกระทำหรือสั่งให้ใครทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาหรือตำรวจอาสา นำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนถนนแต่อย่างใด

เป็นข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง แขวน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือเกิดความไม่สะดวกต่อการใช้ทาง”

ไม่มีข้อยกเว้นให้ใครมีอำนาจ “ทำ” หรือ “อนุญาต” ให้ใครทำได้ทั้งสิ้น 

 แม้แต่ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน คืออธิบดีกรมทางหลวงเอง ก็มีอำนาจอนุญาตเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับ งานทาง เช่น การซ่อมสร้างทางหลวงตามมาตรา 38 เท่านั้น

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 มีโทษ จำคุกถึง 3 ปี

เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรักษากฎหมายมิให้ผู้ใดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อคุ้มครองถนนทุกสายให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและสะดวกต่อการสัญจรของผู้คนก็คือ ข้าราชการกรมทางหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าพนักงานทางหลวง ทุกคน

โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดความเร็ว รวมทั้งการจัดทำป้าย เครื่องหมายและสัญญาณต่างๆ  

ซึ่งไม่มีใครทราบว่า เหตุใดในช่วงเวลากว่าสิบห้าปีที่ผ่านมา กรมทางหลวงจึงไม่ได้ตรวจตราควบคุมมิให้ตำรวจฝ่าฝืน พ.ร.บ.ทางหลวงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญต่อการคุ้มครองทางอย่างมาก?

เพราะในข้อเท็จจริง ได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกไปจนกระทั่งความเดือดร้อนต่อประชาชน

และที่สำคัญคือเป็นอันตรายต่อผู้ขับรถใช้ถนนอย่างยิ่ง! 

ตำรวจตั้งด่าน

หลายพื้นที่ แม้กระทั่งในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันมากมาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งถึงแก่ความตายก็เคยปรากฏ

เช่น ฝรั่งต่างชาติคนหนึ่งที่ขี่รถจักรยานยนต์เสียหลักจากการตั้งด่านที่จังหวัดพัทลุงเมื่อสองสามปีก่อน

นอกจากนั้น ในความเป็นจริง เป็นที่รู้กันในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะคนขับรถบรรทุกอาชีพว่า การตั้งด่านของตำรวจนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการหารายได้เป็นส่วนใหญ่!

ไม่ว่าจะเป็นจาก ส่วนแบ่งค่าปรับจราจร ซึ่งการตั้งด่านจะทำให้สามารถจับกุมได้มากกว่า รวมไปถึงการตรวจค้นหาอาวุธและยาเสพติด

ตรวจพบแล้วก็นำตัวไปพูดคุยเจรจากัน โดยไม่รีบเขียนบันทึกจับกุมควบคุมตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานทันที!

ตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่รู้กฎหมาย หลายคนหลงผิดคิดว่าการตั้งด่านนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนทางหลวง เป็นอำนาจที่ตำรวจสามารถทำได้เพื่อสะดวกแก่การตรวจค้นประชาชนตาม ป.วิ อาญา

แต่แค่คำถามง่ายๆ ว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุ รถชนกันเสียหาย มีคนได้รับบาดเจ็บหรือตาย

ใครคือผู้รับผิดชอบทั้งทางอาญาและชดใช้ทางแพ่งทั้งหมด

คงไม่พ้นตำรวจผู้น้อยที่ จำใจ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายให้นำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนทางหลวงนั้นอย่างแน่นอน!

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกันเสียหาย หรือยิ่งหากมีคนเจ็บหรือตาย ตำรวจทุกคนต้องรีบเก็บกรวยยางหรือแผงเหล็กแยกย้ายกันหลบหนีให้เร็วที่สุด!.

ตำรวจตั้งด่าน

                              

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 30 ธ.ค. 2562