46ปี14ตุลาฯรำลึกเจตนารมณ์วีรชนเพื่อให้กฎหมาย-เหตุผลเป็นใหญ่ ชำแหล่ะวิกฤติยุติธรรมใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

46ปี14ตุลาฯรำลึกเจตนารมณ์วีรชนเพื่อให้กฎหมาย-เหตุผลเป็นใหญ่ ชำแหล่ะวิกฤติยุติธรรมใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

46ปี14ตุลา

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 ต.ค.2562  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน แยกคอกวัว มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการจัดพิธีกรรม 3 ศาสนา พุทธ-คริสต์-อิสลาม อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมเดินทางมาวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา พร้อมญาติวีรชนผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์กับผู้สนใจเดินทางมาร่วมงาน

 

โดยมีผู้แทนวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชน อาทิ นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายก ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร, นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน, นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ในฐานะผู้แทนผู้ว่าฯ กทม., นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และศูนย์พัทยา ในฐานะผู้แทน ม.ธรรมศาสตร์, นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ผู้แทนนายกฯ กล่าวสดุดีวีรชน 14 ตุลาฯ ว่า ในวันนี้ถือว่า เป็นวันครบรอบ 46 ปี 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย เป็นวันสะท้อนเจตนารมณ์และแสดงพลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่เห็นคุณค่าของประชาธิปไตยว่า เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

46ปี14ตุลาฯ

ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ขึ้นกล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “นิติรัฐและนิติธรรม กับ ระบอบประชาธิปไตยไทย” โดยสรุปเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไทยในบททั่วไป ตั้งแต่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ทำให้ระลึกถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของพลเมือง ไม่ใช่แค่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่รวมถึงบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความยินยอมของประชาชน ตามหลักราชประชาสมาสัย และเมื่อมีเหตุการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ ให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครอง เห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่พระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ได้อธิบายประวัติศาสตร์โดยละเอียด เกี่ยวกับการกำเนิดของหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่มาจากนักปรัชญาการเมืองต่างประเทศในอดีต ความขัดแย้งของชนชั้นนำในประเทศอังกฤษ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ ตามหลัก The King can do no wrong พระมหากษัตริย์ทำผิดไม่ได้ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

46ปี14ตุลาฯ

ส่วนในประเทศไทย รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ชี้ให้เห็นถึงพระราชอำนาจที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ใครเดือดร้อนมาสั่นกระดิ่งก็จะช่วยตัดสินให้ เป็นการตัดสินเรื่องทั้งปวงตามหลักอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งมีหลักแฝงอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย ราชธรรม 4 และ ทศพิธราชธรรม พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งได้เพราะทรงไว้ซึ่งธรรมะ ไม่ใช่พระราชอำนาจอย่างเดียว ทรงไว้ด้วย “ราชธรรม”กำกับ”ราชทัณฑ์” ในส่วนกฎหมายมีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และกฎมณเฑียรบาลระบุไว้

 

“พระมหากษัตริย์ถือหลักธรรมเป็นใหญ่ ตามหลักกฎหมายเป็นใหญ่ กษัตริย์มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนตามประเพณีการปกครอง สืบสานอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ต้องใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย หากเกิดการรัฐประหาร ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างไรไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การรัฐประหารฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ทำก็อ้างทำด้วยความจำเป็น ซึ่งมีหลักว่าความจำเป็นเป็นมารดาแห่งกฎหมาย หากเผชิญหน้าอันตรายและสมควรแก่เหตุ ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารทุกชุดยอมรับว่าผิด ถึงมีการนิรโทษกรรม ขอพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่”

 

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ มองคณะรัฐประหารว่าขอความเห็นชอบกับผู้แทนปวงชนคือพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ควรศึกษาทำความเข้าใจ การใช้พระราชอำนาจในยามวิกฤติ ยกเว้นกฎหมายทั้งหลายเมื่อมีเหตุจำเป็น เป็นไปตามหลักราชธรรม ป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เกิดในบ้านเมือง หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต้องเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับประชาชน เข้าใจได้อธิบายได้แก่ประชาชน อำนาจที่แท้จริงคือความเห็นร่วมกันที่คนทั้งหลายยอมเคารพและเชื่อฟัง หลัง 14 ตุลา ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจตามอำเภอใจลดน้อยถอยลง แต่อำนาจตามอำเภอใจทางเศรษฐกิจมีมาก ต้องไม่ให้ทุนใหญ่ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ให้ประชาชนต่อรองควบคุมการใช้อำนาจผูกขาด ขอให้รำลึกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลา เพื่อให้กฎหมายเหตุผลเป็นใหญ่ ด้วยความร่วมมือของประชาชนกับพระมหากษัตริย์

46ปี14ตุลา

ต่อมาเวลา 13.30 น. มีการจัดเสวนาโต๊ะกลมวาระประชาชน หัวข้อ “ยุติธรรมวิกฤต จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ไม่ให้เลือกปฏิบัติ-สองมาตรฐาน” เนื่องในงานรำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

โดย มี ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) และนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กรรมการสป.ยธ.เป็นผู้ดำเนินรายการ

46ปี14ตุลา

โดยนายรังสิมันต์  โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เล่าถึงการทำงานใน กมธ.กฎหมายฯ ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนไม่น้อย เช่นเรื่องสัญชาติ ที่เรายังมีคนไม่ได้สัญชาติไทยเป็นเวลานานได้อย่างไร เรื่องกระบวนการยุติธรรมในรอบ 5 ปี เรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาก่อนรัฐประหาร 2549 เรื่องการถูกซ้อมถูกทำร้าย เราอยู่ในสถานการณ์วิกฤติข้อยกเว้น ฝั่งหนึ่งถูกเสมอ ฝั่งหนึ่งผิดเสมอ เช่นเรื่องนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ โดย ป.ป.ช. ไม่สามารถทำให้ประชาชนหายเคลือบแคลงได้ แต่จะอธิบายอย่างไรกับการดำเนินคดีต่อคนเรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแบบแกล้งฟ้องหรือ SLAPP ทำให้เป็นภาระขึ้นโรงขึ้นศาล กว่าคดีจะสิ้นสุดนับปี ทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อำนาจของ กมธ.กฎหมายฯ คือการศึกษารายงานเสนอแก้กฎหมาย ไม่ได้ชี้ถูกผิด แต่ประชาชนเข้ามาพึ่งตรงนี้เยอะเพราะสูญเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

46ปี14ตุลา
รังสิมันต์ โรม

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้ว่า ปัญหาคดีความมั่นคง เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงทนายและญาติของผู้ถูกคุมตัวหลังการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่อ้างว่ายังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาเลยไม่ได้รับสิทธิ แค่เอามาสอบถาม ทั้งที่ความจริงต้องได้ความคุ้มครองมากกว่าเหมือนคนบริสุทธิ์ หลักการผู้ต้องหาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ได้นำมาใช้จริงหรือไม่ อย่างการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว แต่พอถูกสั่งไม่ฟ้องหรือปล่อยตัวก็ไม่มีใครรู้ มีคนถูกฝากขังออกจากคุกมาถามตนว่าจะลบคลิปข่าวที่ตนถูกจับกุมได้อย่างไร ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ไม่มีใครมารับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพยานหลักฐานที่อยู่กับเจ้าหน้าที่มากกว่า เช่นถูกจับ พ.ร.บ.คอมฯ ก็ถูกยึดมือถือ

46ปี14ตุลา
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

นายคชรักษ์ แก้วสุราช  ผู้สื่อข่าว thisAble.me ในฐานะนักข่าวเกี่ยวกับผู้พิการ เล่าถึงปัญหาคนพิการถูกเลือกปฏิบัติ คนหูหนวกไม่สามารถสื่อสารได้ เสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรม ล่ามภาษามือทั่วประเทศมีอยู่หลักร้อยคน เทียบกับคนหูหนวกมีสามแสนกว่าคน คนพิการทั้งหมดสามล้านกว่าคน ยังมีปัญหาการเข้าถึงการศึกษา จบระดับประถมมากที่สุด จบปริญญาตรีเพียง 1 %

 

นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ชี้ให้เห็นถึงปัญหาชาวบ้านถูกฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่มาก่อนกฎหมายประกาศใช้ และคดีป่าไม้กว่า 99% ตัดสินให้ชาวบ้านผิดหมด อ้างเป็นคดีนโยบาย แม้ให้การรับสารภาพก็แค่ลดโทษ ไม่รอลงอาญา ถึงมีคำสั่ง คสช. เรื่องการทวงคืนผืนป่าต้องไม่กระทบผู้ยากไร้ รายได้น้อย และไม่มีที่ดิน แต่เวลาจับกุมเจ้าหน้าที่ก็อ้างกฎหมายอุทยาน ไม่มีการคัดกรองคนที่เข้าเกณฑ์ตามคำสั่ง คสช. ตำรวจและอัยการไม่สนใจยื่นสั่งฟ้อง มีกรณีศาลฎีกาพิพากษาชี้อยู่มาก่อนไม่ผิด แต่กฎหมายประกาศแล้วก็สั่งให้ออกจากพื้นที่ ทุกวันนี้ชาวบ้านกลัวค่ายทหาร ศาล โรงพยาบาล ไม่รู้ไปแล้วจะได้ออกหรือไม่ เป็นวิกฤติที่ไม่ได้แก้เชิงโครงสร้าง

 

นายสาวิทย์ แก้วหวาน  เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวถึงกฎหมายแรงงานที่ออกมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้ว 2 ปี เท่ากับใช้มาแล้ว 44 ปี สถานการณ์จ้างงานเปลี่ยนไปมาก ยังไม่มีการแก้ไข และมองว่าศาลแรงงานไม่มีผู้พิพากษาเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นำผู้พิพากษาศาลแพ่ง อาญา มาหมุนเวียน ทั้งที่มีเรื่องคนเรื่องเทคนิคมาเกี่ยวข้อง จึงอยากให้ตั้งศาลแรงงานขึ้นเป็นศาลพิเศษ เพราะคดีแรงงานมีรายละเอียดที่ต้องตรวจสอบ

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพี่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า คนจนแจ้งความยาก ติดคุกง่าย คนรวยแจ้งความง่าย ติดคุกยาก ทุกวันนี้วิกฤติหนักคนจนแจ้งความไม่ได้ ไม่มีการสอบสวนหาคนมารับโทษ และไม่ควรมีคำกล่าวว่าเป็นคดีนโยบาย จะไม่ใช้หลักนิติรัฐนิติธรรมหรืออย่างไร รัฐธรรมนูญเขียนไว้หรูหรา การจับกุมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตำรวจจับใครในความเป็นจริงมีแต่ทำให้ผิด โยนไปอัยการไปศาล ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็โดนคดี ส่วนเรื่องพนักงานสอบสวนมีระบบยศแบบทหาร วินัยก็อปมาจากกองทัพบก ควรเปลี่ยนโครงสร้างเป็นระบบพลเรือน แก้ปัญหาชั้นสอบสวนสั่งให้ทำอะไรทำหมด ถ้าดื้อก็ริบสำนวนให้คนอื่นทำ หัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจคืองานสอบสวน อัยการก็ไม่ใช่หลักฐานพอฟ้องก็ฟ้อง กฎหมายเขียนว่าอัยการเห็นควรฟ้องค่อยฟ้อง

46ปี14ตุลา

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ มองว่าคดีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านนักเคลื่อนไหวหรือฝ่ายค้านนั้น แทนที่รัฐจะใช้กฎหมายเป็นกรอบของความยุติธรรม กลับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และแย่กว่านั้นคือข้าราชการกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งในเยอรมนีนั้น หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คนที่รับคำสั่งจากฮิตเลอร์ไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกพิพากษาประหารชีวิต ในไทยทั้งกรณีตากใบ ทนายสมชาย และบิลลี่ มีการใช้อำนาจรัฐมิชอบ หน่วยราชการก็ปกปิดกันเอง เราต้องมีข้อสรุปไปยังหน่วยงานองค์การของรัฐว่ามีปัญหาการใช้อำนาจรัฐมิชอบ เป็นผู้ร้ายเสียเอง ซึ่งสามารถฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ของสหประชาชาติ หรือศาลอาญาระหว่างประเทศได้

 

ทั้งนี้ นายกษิต ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตั้งข้อหาครอบจักรวาลจากคดีการเมือง พร้อมแนะทุกหน่วยราชการให้ดูเจตนา ในเรื่องสิทธิที่ทำกิน ดำรงชีวิตของชาวบ้าน จะนำมาฟ้องเป็นข้อหาไม่ได้ ควรชั่งน้ำหนักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานก่อน และเราควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับสภาทนายความฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการช่วยเหลือผู้เสียหายตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ ในญี่ปุ่น มีคณะกรรมการกรองคดี เพื่อให้มีการตกลงนอกศาลหรือลดคดี โดยเฉพาะคดีที่ทำกินไม่ใช่ความอาญาโหดร้าย น่าจะมีการตกลงกันนอกศาลได้ เราน่าจะมีคณะทำงานเล็กๆ ประมวลเรื่องมาเสนอไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีแผนแม่บทว่าด้วยที่ทำกิน บอกกับทุกหน่วยงานที่ประเทศไทยต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ให้ประชาชนเป็นผู้เสียหาย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มที่สิทธิมนุษยชน

 

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  เรียกร้องให้ทหารยุติการแทรกแซงการบริหารจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยกเลิกกฎอัยการศึกที่ให้บุคคลถูกจับกุมตัวไว้ 7 วัน การตรวจสอบ เรียกเข้าค่าย ถูกเก็บดีเอ็นเอขณะเรียกเกณฑ์ทหาร เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ทำอย่างไรให้หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจพิเศษ ทุกคดีสำคัญกับทุกครอบครัว ไม่ใช่ผลคดีต้องเป็นที่พึงพอใจของผู้ใหญ่ พร้อมขอให้บันทึกภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี เพื่อให้ศาลสูงพิจารณาได้ทุกคดี ทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมาน ที่ญาติผู้เสียหายมักถูกดำเนินคดีแจ้งเท็จและถูกลงโทษ เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่จริง ซึ่งยากแก่การพิสูจน์ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการทดลองการใช้อำนาจพิเศษแล้วสำเร็จ

46ปี14ตุลา
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวเสริมในความห่วงใยเรื่องการบังคับใช้กฎหมายป่าสงวนที่มีการเอาผิดราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตป่า โดยยกพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประกอบการบรรยาย ที่มองว่าการใช้กฎหมายต้องมุ่งรักษาความยุติธรรม และได้เรียกร้องประเด็นทางการเมือง ซึ่งมีคนติดคุกกันไปเยอะแยะ ถูกข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย ถึงเวลาอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยกเว้นกรณีละเมิดสิทธิ ผิดอาญาร้ายแรง ทุจริต และความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 คืนความสุขให้สังคมไทยได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ กระบวนการทั้งหมดทำอย่างไรที่จะคืนความสุขอย่างแท้จริงได้ คืนความยุติธรรมสมานฉันท์ให้บ้านเมืองได้ จะเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่

 

างสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) มองว่า กระบวนการยุติธรรมกับประชาธิปไตยไปด้วยกัน ไทยมีความเป็นกองทัพของตำรวจ เป็นรัฐซ้อนรัฐ มีทั้งรัฐทหารและรัฐตำรวจอยู่ โดยได้อธิบายเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ ที่ตำรวจและนายพลไม่เยอะเหมือนประเทศไทย

46ปี14ตุลา