‘ลัลลาเบล’ กับกระบวนการยุติธรรมอาญาที่ล้าหลัง ต้องปฏิรูป-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  

‘ลัลลาเบล’ กับกระบวนการยุติธรรมอาญาที่ล้าหลัง ต้องปฏิรูป-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  

ยุติธรรมวิวัฒน์

ความตายของ ลัลลาเบล หลังจากเข้าไปทำงานเป็นพริตตี้ตามที่มีการว่าจ้างในบ้านหลังหนึ่งย่านบางบัวทอง  ซึ่งต่อมาถูกตำรวจแจ้งข้อหาผู้เกี่ยวข้องรวมหกคนว่า ซ่องโจร

เป็น ข้อหามาตรฐานแบบโบราณ ที่ตำรวจไทยนิยมใช้กันในสมัยก่อนเมื่อกว่า 50 ปี ที่ผ่านมา!

คือเป็นการกล่าวหาว่า บุคคลมีพฤติการณ์ สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดกฎหมาย อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีโทษจำคุกหนึ่งปีขึ้นไป เป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 210 มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี

การกล่าวหาที่กระทำกันส่วนใหญ่ในสมัยโบราณ ก็เพื่อที่ตำรวจจะได้มีอำนาจในการจับและควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ระยะหนึ่ง แล้วสุดท้ายสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการ สั่งไม่ฟ้อง

ข้อหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากมี สาวพริตตี้อีกคนหนึ่งถูกนำมาบันทึกคำให้การ ว่า ได้รับการว่าจ้างให้เข้าไปทำงานในบ้านวันนั้นเช่นกัน และร่วมดื่มเหล้าจนเมาหลับไปในห้องชั้นบน แต่เมื่อตื่นขึ้นมาพบเสื้อผ้าบางส่วนถูกถอดผิดปกติและปรากฏมีคราบอสุจิ จึงเชื่อว่าเธอถูกข่มขืน แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร?

ส่วนการดำเนินคดีกับ น้ำอุ่น กรณีความตายของลัลลาเบล ได้ถูกออกหมายจับ 3 ข้อหาคือ

พาไปเพื่อการอนาจาร กักขังหน่วงเหนี่ยวและกระทำอนาจาร จนเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก สามถึงสิบห้าปี 

การตั้งข้อหาทั้งสามนี้ คนส่วนใหญ่ทั้งนักกฎหมายและตำรวจพนักงานสอบสวนจำนวนมากต่างงงๆ กันว่า สอดคล้องกับพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงของการกระทำผิดหรือไม่?

เพราะในเมื่อผลการตรวจศพของแพทย์ยืนยันว่า  ความตายของลัลลาเบลเกิดจากการดื่มเหล้าเข้าไปไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือจากการคะยั้นคะยอรูปแบบใด ตามสภาพสังคมที่เน่าเฟะของไทย จนเกินขนาดถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และเป็นเหตุทำให้หัวใจวายเฉียบพลัน

นั่นน่าจะถือ เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ว่า  ความตายนั้น ไม่ได้เกิดจากการกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือทำอนาจารแต่อย่างใด!

ลัลลาเบล
Cr :posttoday.com

คำถามที่ผู้คนสงสัยก็คือ ตำรวจทั้ง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ รวมทั้งตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ ใช้พยานหลักฐานอะไรในการกล่าวหาดังกล่าว และนำไปเสนอศาลออกหมายจับ โดยอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หลบหนี?

ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง จะใช้วิธีออก หมายเรียก ให้มารับทราบข้อหาก็ได้

เพราะหลายคดีที่ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลกระทำความผิดอาญาข้อหาฉกรรจ์กว่านี้ ก็ยังไม่เคยเห็นว่าได้มีการเสนอศาลออกหมายจับ และใช้กำลังไปปิดล้อมบ้านจับตัวใครในยามวิกาลกันเหมือนประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด?

ไม่ว่าจะเป็นคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการสอบสวนคดีหวย 30 ล้านที่จังหวัดกาญจนบุรี หรือกรณีการฉ้อโกงตำรวจด้วยกันเสียหายไปกว่าหนึ่งร้อยล้านของ ผบก.ตำรวจจังหวัดคนหนึ่ง

ซึ่งตำรวจกลับใช้วิธีแจ้งนัดหมายให้ไปพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาอย่างเงียบๆ แล้วปล่อยตัวกลับไป!

ทั้งการออกหมายเรียกผู้ต้องหาและเสนอศาลออกหมายจับนี้ ต้องได้รับการปฏิรูปสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติที่ถูกต้องให้สอดคล้องกับหลักสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไปด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัย

ไม่ใช่เอะอะอะไร ตำรวจก็ไปอ้างต่อศาลกันมั่วๆ น่า  เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์จะหลบหนี  หรือ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

พอได้หมาย ก็ใช้วิธีนำตำรวจคอมมานโดหรือ หน่วยกล้าตาย ถือหมายไปปิดล้อมบ้าน หรือบุกจับตัวให้เป็นข่าวเอิกเกริกให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหายในหลายคดีอย่างที่เห็นกันเช่นทุกวันนี้!

ตามกฎหมาย ความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวหรืออนาจารต้องกระทำต่อ บุคคล เท่านั้น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่

แต่ ถ้าบุคคลใดอยู่ในสภาพไม่มีชีวิต ความผิดสองข้อหานี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้!           

ปัญหา เวลาตาย ของลัลลาเบลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคดี

เมื่อแพทย์ตรวจไม่พบว่ามีสารแปลกปลอมอื่นใด และสรุปสาเหตุการตายว่าเกิดจากการดื่มสุราเกินขนาด ข้อสรุปด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องถือว่าจบลงตรงนั้น

ตามหลักวิชาการ อาการหัวใจวายจากการดื่มสุราเกินขนาดจะเกิดขึ้นหลังจากดื่มครั้งสุดท้ายประมาณ หนึ่งชั่วโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่แอลกอฮอล์ได้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดสูงสุด

ถ้า หลังดื่มหนึ่งชั่วโมงแล้วไม่ตาย หลังจากนั้น เป็นอันว่ารอด!

เพราะแอลกอฮอล์จะลดลงเรื่อยๆ ด้วยการขับออกจากร่างกายตามธรรมชาติ ชั่วโมงละ 10-15 เปอร์เซ็นต์          นั่นหมายความว่า หากลัลลาเบลดื่มครั้งสุดท้ายในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ซึ่งทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ขึ้นสูงสุดถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ที่เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายหลังจากดื่มหนึ่งถึงสองชั่วโมง ก็น่าจะตายในช่วงเวลา 16.00-17.00 น.

เวลาการตายที่แน่นอนของบุคคลนั้น ถ้าไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ที่ชัดเจนอื่นใด แพทย์ทุกคนจะไม่สามารถตรวจเพียงสภาพศพแล้ว บอกเป็นนาทีหรือแม้กระทั่งชั่วโมง ได้ มีแต่เพียงการประมาณเป็นช่วงเวลาโดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติเป็นสำคัญ

แต่ Smart watch หรือนาฬิกาที่ตรวจวัดการเต้นของชีพจร จะบอกได้ว่าบุคคลที่สวมใส่หัวใจเต้นทุกวินาทีเป็นอย่างไร และ สามารถใช้เป็นหลักฐานบอกเวลาตายที่แน่นอนได้ดีกว่าแพทย์นิติเวชทุกคน

ซึ่งจนกระทั่งขณะนี้ ก็ไม่มีตำรวจคนใดออกมาบอกหรือให้ข้อมูลว่า นาฬิกาดังกล่าวปรากฏสัญญาณชีพของลัลลาเบลที่อ่อนลงเป็นระยะจนกระทั่งหยุดเต้นเป็นเวลากี่นาฬิกา?

หลักฐานสำคัญอย่างยิ่งชิ้นนี้ ไม่มีใคร แม้กระทั่งอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีรู้ว่าแท้จริงเป็นเช่นใดกันแน่?

ถ้าสัญญาณชีพจรหมดก่อน 17.15 น. ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำอุ่นอุ้มร่างเธอออกไป

ก็หมายความว่าเธอได้เสียชีวิตแล้วใหม่ๆ โดยที่คนอุ้มไม่ทันสังเกต คิดว่าหลับหรือหมดสติไปเพราะความมึนเมาเช่นเดียวกับการดื่มเหล้ามากทั่วไป

ฉะนั้น ความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากต้องมีความสัมพันธ์กับความมีชีวิตและต้องการอิสรภาพของบุคคล แต่มีผู้กระทำด้วยประการใดๆ ให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพของตนได้

การที่รัฐปล่อยให้ตำรวจมีอำนาจ “แจ้งข้อหา หรือ เสนอศาลออกหมายจับ บุคคลตามลำพัง   โดยไม่ได้ผ่านการตรวจพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการตามหลักกระบวนการยุติธรรมสากล                  

ส่งผลทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติถูกตำรวจออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา  หรือเสนอศาลออกหมายจับกันง่ายๆ จับตัวไปขังไว้ในเรือนจำกันจน ล้นคุก มากมาย!

และเมื่อจับตัวตามหมายได้มาแล้ว แม้แต่อัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีทุกคนก็ไม่มีความมั่นใจว่า

เมื่อตำรวจสรุปสำนวนการสอบสวนส่งพยานหลักฐานต่างๆ มาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องให้ศาลพิพากษาลงโทษได้หรือไม่ หรืออาจต้องสั่งไม่ฟ้อง ทำให้อัยการกลายเป็น “แพะรับบาป” ไป!

คดีนี้อย่างน้อยก็คงต้องมีการสั่งให้ตำรวจสอบเพิ่มอีกหลายประเด็นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้เสียเวลาการดำเนินคดีไปมากมายโดยไม่จำเป็น

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของไทยต้องได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่

โดยกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำ ผู้กล่าวหา” “ผู้เสียหาย และ ผู้ต้องหา” เป็นหลักฐานไว้

และพนักงานอัยการต้อง มีหน้าที่และความรับผิดชอบ” ในการตรวจพยานหลักฐานก่อนการออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา หรือเสนอศาลออกหมายจับทุกคดี                             

เพื่อที่รัฐและประชาชนทั่วไปจะได้มั่นใจว่า เมื่อจับตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าคดีใดมาแล้ว จะสามารถพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่นานาอารยประเทศทั่วโลกถือปฏิบัติกันเท่านั้น.

ลัลลาเบล

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, September 30, 2019