นายกฯตั้งกก.พิจารณาร่างพรบ.ปฏิรูปตำรวจ2ฉบับ’มีชัย’นั่งประธานฯเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถกให้ได้ข้อยุติก่อนเร่งเสนอครม.

นายกฯตั้งกก.พิจารณาร่างพรบ.ปฏิรูปตำรวจ2ฉบับ’มีชัย’นั่งประธานฯเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถกให้ได้ข้อยุติก่อนเร่งเสนอครม.

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 203/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ….

โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา  รวม 2 ฉบับ ที่คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 11 (6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติและเร่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)

ประกอบกับครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจต่อไป โดยให้เสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการกฤษฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เพื่อตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปนั้น

เพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปโดยเรียบร้อยและต่อเนื่อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ..โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

ประกอบด้วย 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ 2.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 3.นายอัชพร จารุจินดา 4.นายสมชาย พงษธา  5.คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ 6.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ 7.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ 8.นายประพันธ์ นัยโกวิท 9.นายอุดม รัฐอมฤต 10.นายวรรณชัย บุญบำรุง 11.พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน 12.นายศุภชัย ยาวะ ประภาษ และ13.พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม  เป็นกรรมการ

หน้าที่และอำนาจ มีดังนี้ 1.ตรวจพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2.เชิญเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ.

ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ โดยยให้มีเลขานุการคนหนึ่ง และผู้ช่วยเลขานุการอย่างน้อยสองคน ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งจากข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้คณะกรรมการ เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง และให้คณะกรรมการชุดนี้สิ้นสุดลงเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

กก.ปฏิรูปตำรวจ

กก.ปฏิรูปตำรวจ