ยังไม่สาย!นักกฎหมายจี้รื้อระบบตรวจสอบการพิสูจน์ความจริงทางอาญาต้นตอวิกฤติกระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาตำรวจแต่ง’นิยายสอบสวน’ให้อัยการสั่งคดี’จูงแพะไปฟ้อง    

ยังไม่สาย!นักกฎหมายจี้รื้อระบบตรวจสอบการพิสูจน์ความจริงทางอาญาต้นตอวิกฤติกระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาตำรวจแต่ง’นิยายสอบสวน’ให้อัยการสั่งคดี’จูงแพะไปฟ้อง  

สปยธ.

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมเดอะเซส บางแสน จ.ชลบุรี  สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการ และบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด หัวข้อ “สายพานกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาอะไร จึงไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้จริง?”

ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาการเบี่ยงเบนกระบวนการยุติธรรมไทย  คือ  “ระบบตรวจสอบการพิสูจน์ความจริง” โดยเฉพาะอัยการและตำรวจไม่ได้ทำงานสืบสวนสอบสวนร่วมกัน  ไม่ได้เป็นกระบวนการเดียวกันเช่นต่างประเทศ  นำไปสู่ความผิดพลาดในหลายกรณี   และศาลเองก็ไม่จะออกมาพิสูจน์ความจริงทั้งที่ตามกฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้  ปล่อยให้คู่ความต่อสู้คดีกันเอง นี่เป็นปัญหาสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย

“ในความเป็นจริง  อาจกล่าวได้ว่า  ความเชื่อถือของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมอาญาของไทยเป็นศูนย์เลยก็ได้  เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  และหากไม่มีการปฏิรูปอะไรให้ดีขึ้น  ไทยจะเป็นประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรมล้าหลังที่สุดในโลก!”ศ.ดร.คณิต กล่าว

 

จากนั้นมีการเสวนา หัวข้อ  “จะปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนอย่างไร  ให้สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้จริง?”

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดกาญจนบุรี  กล่าวว่า บทบาทหน้าที่สำคัญของอัยการ คือ ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ต้องปกป้องความเท่าเทียมกันในการต่อสู้คดีระหว่างโจทย์และจำเลย เพราะอัยการมิใช่เป็นเพียงทนายรัฐเท่านั้น  แต่ต้องอยู่ฝ่ายประชาชนที่มีฐานยากจนด้วย  หน้าที่สำคัญอัยการ คือ การสร้างความเท่าเทียมทั้งสองฝ่ายในการ “ค้นหาความจริง” ไม่ใช่การแข่งขันแพ้หรือชนะ แต่คือการให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ประเทศไทยการพิสูจน์ความจริงตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับภาระอย่างหนัก

สปยธ.

“ปัญหากฎหมายที่เห็นชัด คือ การจับผู้ต้องหา ตำรวจไทย จับก่อน ขังก่อน แจ้งข้อหาก่อน ฟ้องที่หลัง  หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาก็ติดคุกฟรี  ต่างจากประเทศอื่นๆ พยานหลักฐานต้องพร้อมจึงสั่งฟ้อง เช่น ญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา ภายใน 10 วัน ต้องสั่งฟ้อง ไม่ใช่จับเข้าคุกก่อน เช่นเดียวกับ การขอหมายค้น หรือ หมายจับ ต้องมีเหตุและผลที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความจริงได้ นี่คือข้อบกพร่องสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย”

ดร.น้ำแท้ กล่าวอีกว่า สังคมไทยมีทัศนะที่น่าเป็นห่วง คือ เร่งให้มีการฟ้อคดีงโดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ ว่าหากฟ้องไปแล้วจะสามารถดำเนินการเอาผิดได้หรือไม่ ​ พยานหลักฐานพร้อมหรือไม่  นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกดำเนินคดี  นำไปสู่ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม   แนวทางการปฏิรูปไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มโทษให้หนักขึ้น  แต่ต้องสร้างระบบกฎหมาย  ให้ผู้ปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้  เจ้าหน้าที่ชั่วๆทำชั่วไม่ได้  อัยการ ฝ่ายปกครอง และ ตำรวจ ต้องร่วมกันเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ   เก็บโดยสมบูรณ์ รับรู้ร่วมกันหลายๆหน่วยงาน

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  กล่าวว่า ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยที่สำคัญ  ก็คือ  การสอบสวนคดีอาญาผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและขาดการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง   การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา  การเสนอศาลออกหมายค้นหรือหมายจับ  และการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพยานวัตถุหรือพยานบุคคล  อยู่ในอำนาจตำรวจหมดสิ้น  ฝ่ายปกครองในพื้นที่หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบระหว่างการสอบสวนได้เลย

สปยธ.

เท่านั้นยังไม่พอ ตำรวจยังควบคุมการรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์  การตรวจพิสูจน์  แม้กระทั่งการผ่าชัณสูตรศพ  เรียกว่าครบวงจรเลยทีเดียว กระบวนการยุติธรรมไทยจึงปัญหาอย่างร้ายแรงยิ่ง  ทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหายได้รับผลกระทบอย่างมาก  แค่ถามว่า หากพยานหลักฐานถูกผิดเบือน พี่น้องประชาชนจะไปร้องทุกข์ต่อใครเพื่อเอาผิดกับใครให้เข้ามาตรวจสอบหรือแก้ไข  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอหรือแม้กระทั่งอัยการก็ช่วยอะไรไม่ได้

ต้องเข้าใจว่า ในอดีตแม้กระทั่งในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  งานสอบสวนเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองคือ  “กรมการอำเภอ”  แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมีการร่าง ป.วิ อาญา อำนาจสอบสวนก็เป็นของฝ่ายปกครองในส่วนภูมิภาค  ตำรวจมีหน้าที่ตรวจป้องกันอาชญากรรมจับผู้กระทำผิดส่งอำเภอสอบสวน

พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวอีกว่า สำนวนการสอบสวนที่อัยการรับจากตำรวจไปอ่านกันในปัจจุบัน  มีจำนวนไม่น้อยเป็น  “นิยายสอบสวน” ที่ตำรวจแต่งขึ้น ทั้งตามความเข้าใจของตนเองโดยสุจริต  และทุจริต บางคนก็สอบสวนตามสั่ง มีบางคนสั่งผ่านกันมาเป็นทอดๆ ให้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามเป้าอย่างนั้นอย่างนี้   ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจรัฐหรืออำนาจเงิน   สามารถพลิกคดีจาก “แพะเป็นแกะ” หรือ จาก “แกะเป็นแพะ” ได้ ทำให้ประชาชน  โดยเฉพาะคนจนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

“ภาษิตกฎหมายที่ว่า   ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว  ควรจะเปลี่ยนเป็น  ปล่อยคนผิดสิบดีแจ้งข้อหาผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว ขอให้เข้าใจว่า เมื่อใดที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง  นั่นไม่ใช่ความยุติธรรมแท้จริง   เพราะมีผู้เดือดร้อนเสียหาย  ไม่ว่าจะเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา ต้องมีคนหนึ่งคนใดได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

นายจาตุรนต์  ฉายแสง  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  กล่าวถึงประสบการณ์ที่รับรู้ด้วยตัวเอง เช่นคดีการพนัน  ไม่ได้มีโทษถึงจำคุก  แต่เมื่อไม่ได้รับการประกันตัว  ก็เท่ากับตำรวจมีอำนาจพิพากษาจำคุก เหตุใดเป็นเช่นนี้   เมื่อไปถามว่าทำไมไม่ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องประกันตัวเพราะไม่ใช่คดีร้ายแรงอะไร   ตำรวจก็มองอย่างแปลกประหลาด

สปยธ.

เมื่อมาเป็นผู้ต้องคดีในศาลทหาร  5 ปีก่อน  เหตุใดตำรวจจึงพาไปขึ้นศาลทหาร  ถูกตั้งข้อหาโดยใช่เหตุ ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิ์คัดค้านคำสั่งของศาลว่าไม่ควรสั่งขัง  ต่อมาก็ได้ประสบการณ์ในคดีความมั่นคง  เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงคืนเดียว พร้อมตั้งข้อหามาตรา 116 โดยอ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)  เป็นการตั้งข้อหาเกินจริง แม้จะไม่มีพยานหลักฐาน นี่คือปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย  จะทำอย่างไรในการแก้ปัญหาการตั้งข้อตามใจชอบได้    ผู้มีอำนาจบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ เพราะไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นต่างทางการเมืองจากฝ่ายใด

“คนจนเจอปัญหากระบวนการยุติธรรมหนักกกว่าคนรวยเยอะ  พูดกันไปถึงกันว่าแม้การลงโทษที่เท่ากัน แต่ในความจริงแล้วไม่ยุติธรรม เช่น ปรับคนจน 5 พัน  กับคนรวยต่างกัน เพราะคนรวยมีเงินจ่าย  แต่คนจนกลับต้องติดคุกแทนค่าปรับ นี่คือความไม่ยุติธรรมในแง่เศรษฐศาสตร์รวมกับกระบวนการยุติธรรมไทยแล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้”

นายจาตุรนต์  กล่าวอีกว่า คุกทั้งหลายในประเทศไทย “ขังผิดคน” ไม่ใช่ “ขังคนผิด” ก็มาก  เช่น คดียาเสพติดส่วนใหญ่ เกิน 70%  ผิดคนเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้เสพ  ไม่ใช่ผู้ค้า กลับกลายเป็นว่าเมื่อออกจากคุกมาแล้วทำให้คนเหล่านี้บ่มเพาะอาชีพอาชญากรรมกลับมาด้วย นี่คือปัญหาที่สะสมและหมักหมมมานาน เพราะผู้มีอำนาจบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง จึงเป็นอุปสรรคที่ยากลำบากในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือการปฏิรูปตำรวจ แต่อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องเริ่ม  ยังไม่สาย

สปยธ.

ต่อมาช่วงบ่าย ที่ห้อง 402 อาคารคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี

มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “จะปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนอย่างไร ให้สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเด็กและสตรีได้จริง” อีกด้วย

สปยธ.

 

สปยธ.

สปยธ.

สปยธ.

สปยธ.

สปยธ.