สหพันธ์ขนส่งทางบกฯลุกฮือ!ค้านส่วนแบ่งค่าปรับ-ชงตั้งศาลจราจร-เลิกตั้งด่านเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

สหพันธ์ขนส่งทางบกฯลุกฮือ!ค้านส่วนแบ่งค่าปรับ-ชงตั้งศาลจราจร-เลิกตั้งด่านเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

ค้านพรบ.จราจร

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน  2562 นายอภิชาต  ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 โดยมีสมาชิก 10 สมาคมเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการคัดค้านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ สืบเนื่องจากการออกกฎหมายในครั้งนี้ ไม่ผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยเฉพาะสหพันธ์ขนส่งฯ ที่ถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งในหลายมาตรา ได้สร้างความเดือดร้อนกับผู้ประกอบการขนส่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทโทษปรับที่จะสูงขึ้น 5 เท่าด้วย

 

นายอภิชาต กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของสหพันธ์ขนส่งนั้น เสนอให้กระบวนการต่างๆ ให้ผ่านชั้นศาล เพราะกฎหมายดังกล่าว เป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการจับและตรวจสอบการขับขี่และออกคำสั่งว่ากระทำความผิดกฎหมายจราจรและคำสั่งเป็นที่สุด ไม่สามารถต่อสู้คดีต่อศาลได้ตามหลักสากล นอกจากนี้ เสนอให้ยกเลิกรางวัลนำจับ หลังค่าปรับจำนวน100% แบ่งอัตราส่วนให้เป็นเงินพึ่งได้ให้กับรัฐ 15% ผู้นำจับ 15% ส่วนที่เหลือ 70% คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้มีการตั้งด่านเป็นจำนวนมาก และนำไปสู่คำกล่าวที่ว่า “ส่วยซ่อนรูป”นายอภิชาต กล่าว

 

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ตนเตรียมยื่นข้อเสนอพร้อมรายชื่อจากสมาชิกของสหพันธ์รวมกว่า 50,000 รายชื่อที่คัดค้าน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2562 ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในบางมาตราก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ โดยภายหลังการไปยื่นข้อเสนอและรายชื่อผู้ที่คัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น หากยังไม่มีการตอบรับหรือยังเพิกเฉย ที่ประชุมของสหพันธ์ขนส่งฯ จึงได้กำหนดมาตรการ 4 ระดับ คือ ระดับ 1 รถบรรทุกทั้งหมดที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ขนส่งฯ จะหยุดวิ่งให้บริการ 3 วัน, ระดับ 2 จะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย เป็นต้น 3 วัน

 

ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กล่าวว่า ในส่วนระดับ 3 จะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคไปยังห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ 3 วัน และระดับ 4 จะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในเบื้องต้น 50% 3-7 วัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการของสหพันธ์ขนส่งฯ จะไม่มีการปิดถนนอย่างเช่นที่ผ่านมา และไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน แต่เป็นการดำเนินการให้ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเท่านั้น

 

“ถ้ากฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบกใหม่ ถือว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่างมาก เพราะไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการเชื้อเชิญพวกเรา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายนี้ เหมือนเราถูกเจ้าหน้าที่อาศัยกฎหมายมาบังคับใช้เรา ผมจะเป็นแกนนำหลักในการคัดค้าน พ.ร.บ.นี้ เราอดทนและอัดอั้นมานาน ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่ได้เห็นผู้ประกอบการขนส่ง ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ เป็นการริดรอนสิทธิ ทำให้ครั้งนี้จึงได้มีการรวมกลุ่มสมาชิกของสหพันธ์ฯ เพื่อคัดค้านและมีมาตรการออกมา หากยังเพิกเฉยอยู่” นายอภิชาติ กล่าว

 

ทั้งนี้สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ยังประกาศเจตารมณ์ว่า เราต่อต้าน3เรื่อง สำหรับพรบ.จราจร.นี้ คือ 1. ไม่เห็นด้วยกับส่วนแบ่งค่าปรับ ค่าปรับทั้งหมดควรเข้ารัฐ100% 2. ควรตั้งศาลจราจรขึ้นมาพิจารณา ไม่ใช่อำนาจพิจารณาอยู่ที่ตำรวจ 3. เลิกตั้งด่าน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

 

ทางด้านพล.ต.ต.เอกรักษ์  ลิ้มสังกาศ  รองผู้บัญชาการศึกษา (รอง ผบช.ศ.)  หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขกฎหมายจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มีมติคัดค้านพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กันยายน 2562  นี้ ว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรงกว่า 500 คน ความเห็นจากสื่อมวลชน และทางเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการผ่านร่างกฎหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขให้กฎหมายคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ไม่ใช่คุ้มครองเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

 

“ประเด็นที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ไม่เห็นด้วยเรื่องที่แก้โทษปรับให้สูงขึ้น 5 เท่านั้น จริง ๆ แล้วโทษปรับของผู้ขับขี่ยังคงเท่าเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือ โทษปรับของนิติบุคคล คือเมื่อรถในสังกัดของบริษัททำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่ง บริษัทต้องแจ้งชื่อผู้ขับรถให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปออกใบสั่งใหม่กับบุคคลที่กระทำความผิด มิฉะนั้นบริษัทจะมีโทษปรับ 5 เท่า”

 

พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่อ้างว่ากฎหมายให้อำนาจตำรวจในการจับและออกคำสั่งว่าทำผิดกฎหมายเป็นที่สุด ไม่สามารถต่อสู้คดีต่อศาลได้ตามหลักสากลนั้น ยืนยันว่าไม่จริง กฎหมายฉบับนี้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังสามารถปฏิเสธข้อหา และไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ตามเดิม รวมถึงสามารถร้องเรียนเจ้าพนักงานได้ หากถูกแจ้งข้อหาโดยไม่เป็นธรรมด้วย